วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

11สมุนไพรไทยที่อันตรายต่อคนท้อง






จากบทความที่แล้วเราได้พูดถึงการทำแท้งในสมัยก่อนกันไปแล้ว  ในหัวข้อหนึ่งของการทำแท้งนั่นคือการทำแท้งด้วยสมุนไพรขับเลือด  ในวันนี้เราจึงจะมาเพิ่มเติมในส่วนของสมุนไพรที่เป็นอันตรายต่อคนท้องกันว่ามีอะไรบ้าง  เหล่าคนท้องทั้งหลายจะได้ระมัดระวังตัวกันสักนิดกับอาหารการกินทั้งหลายที่มีผลต่อน้องๆในท้องครับ


1.ดอกคำฝอย (safflower)


ชื่อพื้นบ้าน : ดอกคำ (อีสาน) , คำยอง  คำหยอง  คำหยุม  คำยุ่ง (ลำปาง) , คำ  คำฝอย  ดอกคำ (ภาคเหนือ)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Carthamus tinctorius Linn.
ลักษณะทั่วไป : เป็นพืชล้มลุก  มีลักษณะเป็นพุ่ม  ลำต้นเป็นสัน  สูง 40-150 ซม.  ใบเดี่ยวรูปหอกมีขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเรียงสลับกัน  ดอกสีเหลืองและค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อแก่  มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมากรวมเป็นกระจุกออกเป็นช่อที่ปลายยอด  อยู่ในตระกูลเดียวกับทานตะวัน  เติบโตได้ดีในเขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน  ปลูกกันมากในภาคเหนือ
เครื่องดื่มจากดอกคำฝอยนิยมมากในหมู่สาวๆที่ต้องการรักษาสุขภาพเนื่องจากในน้ำมันดอกคำฝอยมีฤทธิ์สลายไขมัน  ลดการอุดตันในเส้นเลือดทำให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก  แต่เนื่องจากภายในน้ำมันดอกคำฝอยยังมีสรรพคุณลดการจับตัวของเกล็ดเลือดรวมทั้งเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ให้มดลูกบีบรัดตัวจึงสามารถช่วยในการขับประจำเดือน  ช่วยสลายลิ่มเลือดเก่าที่คั่งค้าง  เป็นผลให้ว่าที่คุณแม่อาจต้องสูญเสียน้องไปได้

2.อบเชย (Cinnamon)


ชื่อพื้นบ้าน : กระแจะโมง กะเชียด กะทังนั้น (ยะลา) , กะพังหัน โกเล่ เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) , เขียด เคียด เฉียด ชะนุต้น (ภาคใต้) , มหาปราบตัวผู้ อบเชย อบเชยต้น (ภาคกลาง) , ดิ๊กซี่สอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) , บอกคอก (ลำปาง) ฝักดาบ (พิษณุโลก) , พญาปราบ (นครราชสีมา) , สะวง (ปราจีนบุรี)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum iners Reinw. ex Blume
ลักษณะทั่วไป : ไม้ยืนต้นตรง  สูง 5-25 เมตร ใบเดียวรูปไข่หรือรูปหอก  มีปลายและโคนใบแหลม  ขอบใบเรียบ  มีเส้นสามเส้นขนานขอบใบไปยังปลายใบ  ออกเรียงสลับกันตามกิ่งก้าน ผิวใบเรียบเป็นมัน  ใบหนา  ดอกมีสีเหลืองขนาดเล็กออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง  ผลรูปไข่สีดำขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย
ส่วนทำนำมาใช้เป็นเครื่องเทศคือเปลือกในของอบเชยซึ่งมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัว  สามารถเพิ่มอัตราความเสี่ยงในการแท้งของคุณแม่ได้  โดยจะยิ่งอันตรายหากเป็นอบเชยสดที่ไม่ผ่านความร้อน  ดังนั้นหากเป็นเพียงผงอบเชยเล็กน้อยคุณแม่ก็ยังรับประทานได้


3.ไพล (zingiber cassumunar)


ชื่อพื้นบ้าน : ปูลอย  ปูเลย  (ภาคเหนือ) , มิ้นสะล่าง  (ฉาน-แม่ฮ่องสอน), ว่านไฟ  (ภาคกลาง)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum iners Reinw. ex Blume
ลักษณะทั่วไป : ไม้ล้มลุก  สูง 30-45 ซม. เปลือกมีสีน้ำตาลแกมเหลือง  มีเหง้าใต้ดิน  เนื้อในเหง้ามีสีเหลืองแกมเขียว  มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว  ใบเดี่ยวยาวทรงรี  ปลายแหลม  ขอบใบเรียบขึ้นเรียงสลับกัน
ในส่วนเหง้าไพลมีน้ำมันรสเผ็ดร้อน  หากรับประทานจะช่วยขับลม ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้และระบบย่อยอาหาร  ขับระดูหรือประจำเดือน และมีฤทธิ์บีบมดลูกจึงไม่เหมาะกับคนท้องแต่คุณแม่สามารถใช้เป็นยาทาภายนอกเพื่อคลายปวดเมื่อยได้

4.ฟ้าทะลายโจร (andrographis paniculata)


ชื่อพื้นบ้าน : ฟ้าทะลาย น้ำลายพังพอน (กรุงเทพฯ) , หญ้ากันงู  (สงขลา) , สามสิบดี  (ร้อยเอ็ด) , เมฆทะลาย (ยะลา)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees
ลักษณะทั่วไป : ไม้ล้มลุก  สูง  30-60 ซม.  ลำต้นเหลี่ยมสีเขียวเข้มทั้งต้น  ใบเดี่ยวเรียวปลายและโคน  ขอบใบเรียบ  ผิวใบมัน  ดอกสีขาวเป็นช่อออกบริเวณปลายกิ่งและซอกใบ  ผลเป็นฝักคล้ายต้อยติ่งแต่จะแบนและเล็กกว่า
ฟ้าทลายโจรมักใช้ประโยชน์จากส่วนที่อยู่เหนือดินขึ้นไป  ใช้เป็นยาลดไข้แก้เจ็บคอเนื่องจากมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide; AP1), นีโอแอนโดกราโฟไลด์ (neoandrographolide; AP4), ดีออกซีแอนโดกราโฟไลด์ (deoxyandrographolide)และอื่นๆที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นได้  แต่หากคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องอยู่รับประทานเข้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีโดยทางคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้ระบุไว้ว่า ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร  เนื่องจากอาจทำให้เกดิทารกวิรูปได้ โดยเหตุที่เกิดขึ้นได้มีผลทดลองมารับรองแล้วว่าหนูที่ได้รับฟ้าทะลายโจรเข้าไปในร่างกายจะมีผลในการคุมกำเนิดและในกระต่ายจะมีผลทำให้เกิดการแท้งได้


5.ว่านชักมดลูก (curcuma comosa)


ชื่อพื้นบ้าน : ว่านหมาวัด(อุบลราชธานี) , ว่านชักมดลูก ว่านขอ ว่านทรหด (กรุงเทพฯ) , ว่านพระยาหัวศึก  ว่านการบูรเลือด
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Curcuma xanthorrhiza Roxb.
ลักษณะทั่วไป : ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 2 เมตร ต้นลักษณะเป็นกาบใบ  ใบเดี่ยวขนาดใหญ่เรียงเป็นกระจุก  ก้านใบเป็นสีม่วงแดงแผ่ออกด้านข้าง  ใบกว้าง 15-21 ซม. ยาว 40-90 ซม.  ดอกช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก  ดอกสีขาวหรือม่วงอ่อนไล่ระดับไปจนเป็นสีขาว  เหง้าใต้ดินเนื้อในเป็นสีส้มออกแดง
ว่านชักมดลูกสามารถช่วยรักษาความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิงได้รวมทั้งเป็นยาบีบมดลูก  ขับน้ำคาวปลา  ซึ่งสรรพคุณนี้เป็นอันตรายต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องอย่างมากโดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งท้องในช่วงสามเดือนแรกอาจมีผลทำให้แท้งน้องได้  แต่หากนำไปใช้หลังคลอดจะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วจึงควรใช้ให้เหมาะสม


6.กวาวเครือ (Pueraria mirifica)



 ชื่อพื้นบ้าน : กวาวเครือขาว (ภาคเหนือ) , ตามจองหอง (ชุมพร) , กวาวหัว ทองกวาว กวาวเครือ ตานเครือ โมะตะถู (กระเหรี่ยง-กาญจนบุรี) , ทองเครือ กว๋าวเครือ จานเครือ (อีสาน)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Pueraria candollei Graham ex Benth. var mirifica.
ลักษณะทั่วไป : ไม้เถาเนื้อแข็งขึ้นเลื้อยพันต้นไม้ใหญ่หรือเลื้อยตามพื้นดิน  ก้านใบมีใบย่อย 3 ใบ  ลักษณะใบย่อยเป็นรูปไข่  กว้าง 7-13 ซม.  ปลายใบเรียวแหลม  หัวใต้ดินลักษณะกลม  เนื้อในหัวเปราะ  มีเส้นมาก  มีสีขาวคล้ายมันแกว 
ส่วนใหญ่มักใช้เนื้อในหัวในการทำยา  สรรพคุณบำรุงกำลัง  เป็นยาอายุวัฒนะ  บำรุงเลือด  เร่งการเจริญเติญโตของเนื้อเยื่อ  ถือเป็นยาบำรุงได้อย่างดีแต่มีฤทธิ์บีบมดลูก  ขับเลือด  ซึ่งอาจทำให้คุณแม่แท้งได้  หากจะรับประทานควรทานปริมาณเพียงแค่เม็ดถั่วเพื่อให้คุณแม่มีน้ำมีนวลขึ้นเท่านั้น


7.ว่านนางคำ (Wild Turmeric)


ชื่อพื้นบ้าน : -
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Curcuma aromatica Salisb.
ลักษณะทั่วไป : ไม้ล้มลุก  ใบเดี่ยวเป็นกระจุก  ใบรูปไข่  ปลายใบแหลม  โคนใบมน  ดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด ดอกสั้นกว่าริ้วประดับ  ออกกลางต้น  มีสีดอกม่วงอ่อนจนถึงชมพู  หัวใต้ดินมีเนื้อสีเหลือง  กลิ่นหอม
หัวสดใช้เข้ายาพอกแก้ฟกช้ำเคล็ดขัดยอก  ช่วยขับลมในลำใส้และมีสรรพคุณทำให้มดลูกบีบตัวซึ่งจะสามารถหดตัวจนขับเลือดออกมาได้จึงไม่เหมาะกับคุณแม่ที่กำลังท้อง  โดยเฝพาะคุณแม่ที่ท้องในช่วงสามเดือนแรกจะยิ่งเสี่ยงมีโอกาสแท้งสูง


8.แห้วหมู (Nut grass)


ชื่อพื้นบ้าน : หญ้าแห้วหมูหรือหญ้าขนหมู (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cyperus rotundus L.
ลักษณะทั่วไป : ไม้ล้มลุก  เป็นพืชตระกูลหญ้า  ใบเรียวยาว  ต้นเป็นกาบใบหุ้มซ้อนกันเป็นชั้นๆ  มีก้านช่อดอกเป็นก้านตรงเป็นสามเหลี่ยมทรงกระบอกยาวโดยแยกออกจากต้น  มีหัวเล็กๆอยู่ใต้ดิน 
ใช้ส่วนหัวในการเข้ายาโดยมีสรรพคุณพื้นฐานเรื่องการช่วยขับปัสสาวะ  แก้ปัสสาวะขัด  แก้นิ่วในไต  แก้อาการปวดท้องเพราะมากในกามกิจ  ขับลมในลำไส้  ขับประจำเดือน  ซึ่งเป็นผลร้ายต่อคุณแม่ที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก  ทั้งนี้จากการทดลองยังมีผลข้างเคียงอยู่บ้างในบุคคลทั่วไปคืออาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้หากรับประทานเป็นปริมาณมากหรือรับประทานต่อเนื่อง


9.ดอกกะทกรก (Fetid passionflower)


ชื่อพื้นบ้าน : กระโปรงทอง (ภาคใต้) , เคือขนตาช้าง (ศรีสะเกษ) , ตำลึงฝรั่ง (ชลบุรี) , เถาสิงโต เถาเงาะ (ชัยนาท), ผักแคบฝรั่ง (ภาคเหนือ) , หญ้ารกช้าง (พังงา) , กะทกรก (ภาคกลาง), ผักขี้หิด (เลย) , เยี่ยววัว (อุดรธานี) , ละพุบาบี (มลายู-นราธิวาส , ปัตตานี) , หญ้าถลกบาต (พิษณุโลก , อุตรดิตถ์)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Passiflora foetida
ลักษณะทั่วไป : ไม้เถาเนื้ออ่อน  มีรยางค์เกาะ  ใบเดี่ยวลักษณะของใบเป็นรูปหัว ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเว้าเป็น 3 แฉก  ทั่วทั้งเถามีขนอ่อนหยาบขึ้นกระจายเต็ม  ดอกสีขาวหรืออมม่วง มีก้านชูเกสรร่วม เกสรเพศผู้ 5-8 อัน รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมีย 3-4 อัน  ผลขนาดเล็ก  เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. ลักษณะคล้ายฟักทอง ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อสุกสีส้ม
มีประโยชน์มากมายหลายอย่างทั้งขับพยาธิ์  บำรุงปอด  แก้ปวด  แก้ไอ  แต่จะมีผลต่อคุณแม่เนื่องจากสรรพคุณในการขับพยาธิจะทำให้คุณแม่ปวดท้องหนักซึ่งอาจเป็นผลให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ 

11.ตะไคร้ (Lemongrass)


ชื่อพื้นบ้าน : ไคร (ภาคใต้) , คาหอม  ห่อวอตะโป๋ (แม่ฮ่องสอน) , จะไคร (ภาคเหนือ) , เชิดเกรบ เหลอะเกรย (สุรินทร์) , หัวสิงไค (เปราจีนบุรี)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon citratus, Stapf
ลักษณะทั่วไป : พืชตระกูลหญ้า  ขึ้นเป็นกอ  ต้นเป็นกาบใบห่อซ้อนกันหลายชั้นจนถึงภายใน  ใบรูปหอกยาวคม  มีขนขึ้นตามใบทั่ว  มีเหง้าใต้ดิน
สถาบัน Memorial Sloan Kettering Cancer Center นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยและให้ข้อมูลว่า สาร citral และ myrcene จากตะไคร้อาจทำให้เด็กพิการตั้งแต่กำเนิดได้เนื่องจากสารตัวนี้สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์เกิดใหม่และหากดื่มปริมาณมากยังกระตุ้นให้มีประจำเดือนอีกด้วยจึงไม่ควรจะดื่มน้ำตะไคร้ในปริมาณมาก  แต่อย่าเพิ่งกังวลไปเพราะหากไม่ได้รับประทานในปริมาณมากหรือต่อเนื่องก็ยังไม่น่าเป็นห่วง  ดังนั้นคุณแม่ที่บังเอิญทานอาหารที่มีส่วนผสมของตะไคร้สบายใจได้ว่าลูกยังปลอดภัย  แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานครับ

เป็นยังไงบ้างครับกับสมุนไพรไทยที่มีผลเสียกับคนท้อง  ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณแม่ควรศึกษาให้ดีเกี่ยวกับอาหารการกินที่จะรับประทานเข้าไปด้วยว่าอะไรทานแล้วมีผลเสียต่อน้องได้  นั่นก็เพราะว่าลูกคือดวงใจของพ่อแม่  คงไม่มีใครอยากสูญเสียทารกตัวน้อยๆที่พ่อแม่ร่วมกันสร้างขึ้นมาจริงมั้ยครับ  แล้วพบกันใหม่นะครับ

วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

4วิธีการทำแท้งในไทยสมัยก่อน









จากวรรณกรรมไทยสมัยโบราณหลายเรื่องรวมไปถึงความเชื่อมากมายทางพุทธศาสนาจะแสดงให้เห็นว่าคนไทยในสมัยโบราณนั้นไม่ได้มีการคุมกำเนิดที่ดีนัก  ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการทำแท้งเสียมากกว่า อ้างอิงได้จากเรื่องราวของเปรตกินลูกในทางพุทธศาสนารวมไปถึงเรื่องราวในวรรณคดีไทยสมัยเก่าส่วนใหญ่เช่น ขุนช้างขุนแผน  ทั้งฉบับเก่าและในฉบับชำระความล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงการตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีขั้นตอนป้องกันหรือยาแก้แต่อย่างใด  จึงอนุมานได้ว่าในสมัยโบราณนั้นไม่ได้มีการคุมกำเนิด  มีเพียงแต่การฆ่าทารกหรืออีกนัยหนึ่งคือทำแท้งเพียงเท่านั้น  และวิธีการต่างๆเหล่านี้คือการทำแท้งในสมัยโบราณ



1.กินสมุนไพรขับเลือด
คนโบราณจะเข้ายากับพืชผักสมุนไพรที่มีผลในการขับเลือดเสียทำให้เลือดลมไหลเวียนดีมาปรับทำเป็นยาเพื่อขับเอาก้อนเลือดที่มีการปฏิสนธิแล้วออกมากับประจำเดือน  มักจะใช้ในช่วงแรกๆของการตั้งครรภ์และจะยิ่งไม่เห็นผลเมื่ออายุครรภ์มีมากขึ้นเรื่อยๆ




2.สูตรยาที่ใช้เหล้าขาวผสมพริกไทย  ไพล  ขิง
“ชนิดนางอย่างนี้มีชุมนัก เป็นโรครักเกิดมารศีรษะขน
ต้องกินยาเข้าสุราพริกไทยปน หมายประจญจะให้ดับที่อับอาย”
จากบทร้อยกรองสุภาษิตสอนหญิงแสดงให้เห็นว่าการทำยานั้นไม่ได้มีเพียงแต่การใช้สมุนไพรประเภทขับเลือดเพื่อยุติการตั้งครรภ์เท่านั้น  นอกจากนั้นยังใช้วิธีการผสมสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนกับสุราขาวเพื่อให้มีผลต่อการไหลเวียนเลือดในร่ายกายซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันในการบำรุงเลือดลมและขับเลือดเสียออกมาพร้อมกับไข่ที่มีการปฏิสนธิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว





3.การนวด
เพื่อเอาเด็กออกโดยมีหมอตำแยเป็นผู้ลงมือทำ  เป็นวิธีการสมัยโบราณ คล้ายการทำคลอดโดยหมอตำแย ทั้งบีบเค้นใช้แรงกระแทกที่หน้าท้อง มักใช้กับรายที่อายุครรภ์มากขึ้นอีกหน่อย  นั่นคือสามารถมองเห็นว่าหน้าท้องนูนแล้ว  มดลูกมีขนาดโตพอที่สามารถใช้แรงกดถึงได้ จึงจะทำการนวดหรือใช้อุปกรณ์ทุบลงไปเพื่อทำลายทารกในครรภ์
วิธีทำแท้งประเภทนี้สามารถอ้างอิงไปถึงสมัยโบราณได้ด้วยจิตรกรรมรูปนูนต่ำชิ้นหนึ่งที่นครวัด ในประเทศกัมพูชา โดยเป็นภาพสลักรูปอสูรทำแท้งโดยใช้สากตำไปที่ท้องของสตรีมีครรภ์
โดยวิธีนี้มีความเสี่ยงสูง  หากใช้แรงมากนอกจากทารกจะเสียชีวิตและหลุดออกมาแล้ว  คนเป็นแม่ก็มีสิทธิ์ที่อวัยวะภายในบอบช้ำ  เสี่ยงต่อมดลูกแตกและมีอาการเลือดตกในหรือช้ำในได้ ปัจจุบันจึงมักจะไม่ใช้วิธีนี้



4.เอาขี้เถ้ายัดปาก
ไม่ใช่เป็นแค่สำนวนที่เอาไว้ใช้ขู่เด็กซนๆเท่านั้น  การเอาขี้เถ้ายัดปากเพื่อให้เด็กทารกที่เพิ่งเกิดเสียชีวิตลงยังเป็นอีกวิธีที่จะทำลายชีวิตหนึ่งที่ไม่ต้องการให้ตื่นลืมตาขึ้นมาดูโลกอีกด้วย  โดยคำว่า ‘ขี้เถ้า’ เพี้ยนมาจากคำว่า ‘ขี้เทา’ ซึ่งคือ อุจจาระของเด็กแรกคลอด สีเทาๆ เละๆ ไม่มีกลิ่น เด็กบางคนถ่ายขี้เทาตอนช่วงใกล้คลอด แล้วกลืนขี้เทาปนไปกับน้ำคร่ำ จนทำให้สำลักและเสียชีวิตในตอนคลอดได้
สำนวนคำว่า เอา "ขี้เทา" ยัดปาก  จึงหมายถึงการที่นำเอาขี้เทาของเด็ก ยัดใส่ปาก เพื่อให้เด็กเสียชีวิต ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้สามารถอ้างได้ว่า เด็กสำลักขี้เทาเข้าไปแล้วเสียชีวิตไปเอง
เป็นไงกันบ้างครับ 4 วิธีทำแท้งในสมัยโบราณ  แต่ละวิธีล้วนแต่โหดร้ายกับแม่และเด็กทั้งนั้น  และไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน  การทำแท้งก็ยังคงมีความโหดร้ายทารุณต่อแม่และเด็กอยู่  ผู้เขียนจึงหวังว่าหากใครได้เข้ามาอ่านบทความนี้แล้วอยากให้เป็นอุทาหรณ์หรือเปลี่ยนความคิดหากจะทำในสิ่งที่ไม่สมควรนี้  นั่นเพราะเด็กก็คือหนึ่งชีวิตที่เกิดขึ้นมา  การทำแท้งก็คือการฆ่าหนึ่งชีวิตที่ไม่สามารถปกป้องดูแลตัวเองได้  หากไม่พร้อมควรป้องกันดีกว่ามาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันนะครับ